EN / TH

บริษัทได้ดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise Risk Management: ERM) ตามหลักสากลโดยยึดแนวทางมาตรฐาน ISO 31000 และในส่วนของการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ตามมาตรฐานสากล ISO 22301 ทั้งนี้นโยบายการบริหารความเสี่ยงยังคงได้รับการเน้นย้ำผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ปลูกฝังความตระหนักรู้ในพนักงานทุกระดับ โดยเน้นให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่ร่วมกันของพนักงานทุกคน เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญและสามารถประยุกต์ใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงในทุกกระบวนการทำงานได้อย่างสอดคล้องทั่วทั้งองค์กร

แนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านความยั่งยืน

เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเด็นด้านความยั่งยืนจะได้รับการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ คณะกรรมการบริษัทได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืนขึ้นเพื่อกำกับดูแลด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ฝ่ายบริหารของบริษัทได้จัดตั้งคณะทำงานด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยคณะผู้บริหารจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ โดยมีฝ่ายบริหารความยั่งยืนเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและติดตามการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืนกำหนด รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงานทั่วทั้งองค์กรอีกด้วย

การขับเคลื่อนความยั่งยืนของบริษัทเป็นไปตามกระบวนการบริหารความเสี่ยง ของ ISO 31000 ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ (1) การระบุความเสี่ยง (2) การประเมินความเสี่ยง (3) การควบคุมความเสี่ยง (4) การติดตามความเสี่ยง และ (5) การรายงานความเสี่ยง ตามภาพด้านล่าง โดยกระบวนการประเมินประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายบริหารความยั่งยืน ครอบคลุมการระบุและประเมินความเสี่ยง ผลลัพธ์ของกระบวนการดังกล่าวคือ ประเด็นสาระด้านความยั่งยืนซึ่งคณะทำงานด้านความยั่งยืนจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายและกลยุทธในการขับเคลื่อนประเด็นสาระด้านความยั่งยืนในแต่ละปี และส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปปฏิบัติ การดำเนินงานเหล่านี้เป็นการควบคุมความเสี่ยง โดยมีฝ่ายบริหารความยั่งยืนเป็นผู้ติดตามและรายงานต่อคณะทำงานด้านความยั่งยืนและคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืนอย่างสมํ่าเสมอ

การระบุความเสี่ยง
การประเมินความเสี่ยง
การควบคุมความเสี่ยง
การติดตามความเสี่ยง
การรายงานความเสี่ยง

สำหรับความเสี่ยงจากประเด็นด้าน ESG ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของบริษัท เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความปลอดภัยและสุขภาวะของพนักงาน การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น ความเสี่ยงเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงองค์กรจึงมีการบริหารจัดการเพื่อควบคุมความเสี่ยงอย่างเป็นระบบตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในรายงานประจำปี 2567 หัวข้อการบริหารจัดการความเสี่ยง

นอกจากนี้ บริษัทมีฝ่ายควบคุมคุณภาพ และฝ่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งมีหน้าที่ทำงานเชิงรุกในการติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นด้านความยั่งยืน และดำเนินการตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างทันท่วงทีด้วยต้นทุนที่เหมาะสม รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการกำกับและตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

การเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านการบริหารความเสี่ยง

บริษัทมุ่งเน้นการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับขององค์กร เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรอย่างแท้จริง โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังแนวคิดและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

การสื่อสารภายในองค์กรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น จดหมายข่าว การประชุม และโครงการอบรมด้านความเสี่ยง รวมถึงการบูรณาการคำขวัญองค์กร "4ส สนุก สไตล์ สัมพันธ์ สร้างสรรค์ยั่งยืน" ในกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยง

ในส่วนของกระบวนการบริหารความเสี่ยง บริษัทได้จัดตั้งระบบการรายงานความเสี่ยงที่ชื่อว่า "เรดเรดาร์" (RedRadar) ซึ่งช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถรวบรวม วิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงจากแต่ละส่วนงาน ข้อมูลที่ได้จากระบบนี้ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการควบคุมความเสี่ยง และรายงานต่อคณะกรรมการบริหารในทุกไตรมาส เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและกิจกรรมฝึกซ้อมต่างๆ เช่น การจำลองสถานการณ์ความเสี่ยง เพื่อเพิ่มทักษะและความพร้อมของพนักงานในการรับมือกับ เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น การอบรมเหล่านี้ยังมุ่งเน้นให้พนักงานสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในงานจริงได้อย่างเหมาะสม โดยมีการประเมินผลการอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ

บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 22301 เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นและลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยแผนดังกล่าวถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Response Plan) และแผนฟื้นฟู (Recovery Plan) เพื่อให้บริษัทสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์วิกฤตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

แผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจมีเป้าหมายสำคัญในการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ฉุกเฉิน และสร้างความมั่นใจว่าบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ เช่น ภัยน้ำท่วม คลื่นความร้อน ไฟฟ้าดับ หรือการหยุดชะงักของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น โดยบริษัทตั้งเป้าให้การดำเนินงานกลับสู่สภาวะปกติในระยะเวลาอันสั้น พร้อมทั้งเสริมสร้างความยืดหยุ่นในกระบวนการบริหารจัดการ

ในปี 2567 บริษัทได้ดำเนินการทดสอบและปรับปรุงแผน BCM อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดการน้ำท่วมในบางสนามบิน โดยปรับแผนการจัดสรรทรัพยากรและบุคลากรเพื่อให้การบริการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาระบบสำรองไฟฟ้าในสนามบินสำคัญ และเพิ่มอุปกรณ์สำรองเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การหยุดชะงักของระบบไอที รวมถึงดำเนินการทดสอบระบบกู้คืนข้อมูล (Disaster Recovery Testing) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสำคัญขององค์กรสามารถทำงานได้ในทุกสถานการณ์

นอกจากนี้ บริษัทได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรสำคัญ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจแบบบูรณาการ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานในท่าอากาศยานหลัก ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต มีความพร้อมต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ความร่วมมือนี้ช่วยเสริมความมั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสามารถรองรับเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และลดผลกระทบต่อผู้โดยสารและพันธมิตรของบริษัท

คลื่นความร้อน
น้ำท่วม
ไฟป่า

การจัดการภาวะวิกฤติ

นอกจากนี้บริษัทได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ รวมไปถึงภาวะวิกฤติหรือสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความสูญเสียหรือผลกระทบเชิงลบกับธุรกิจเป็นอย่างมาก เช่น กรณีอากาศยานอุบัติเหตุ (Aircraft accident) อากาศยานสูญหาย (Missing aircraft) การปล้นจี้อากาศยาน (Hijacking) การขู่วางระเบิด (Bomb threat) ภัยธรรมชาติ (Natural disaster) หรือรวมไปถึง ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข (Public health emergency) เป็นต้น สำหรับการจัดการภาวะวิกฤติหรือสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ บริษัทได้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

ในการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน บริษัทได้จัดทำคู่มือแผนตอบโต้เหตุภาวะฉุกเฉิน (ERM) และแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินประจำทุกสนามบิน ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของ ICAO และแผนของสนามบินที่เกี่ยวข้อง บริษัทได้บรรจุการฝึกอบรมแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ในหลักสูตรสำหรับพนักงานทุกคน และจัดการซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำทุกปี

2. การโต้ตอบสถานการณ์ฉุกเฉิน

แผนรับรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน (ERP) ได้ระบุบทบาทเฉพาะสำหรับพนักงานในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้บริหารระดับสูงจะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อตัดสินใจในประเด็นสำคัญ พนักงานในพื้นที่เหตุการณ์จะจัดตั้งศูนย์ตอบสนองต่างๆ เช่น ศูนย์ต้อนรับผู้รอดชีวิต ศูนย์ต้อนรับญาติผู้ประสบเหตุ และทีมดูแลนักบินและลูกเรือ ภายในเวลา 30 นาที ผู้จัดการสถานีจะประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ จากศูนย์ประสานงานสถานี สำหรับสถานที่ห่างไกล ทีมปฏิบัติการจากสำนักงานใหญ่ ประกอบด้วยทีมสอบสวน ทีมวิศวกร และทีมช่วยเหลือพิเศษ (SAT) สำหรับการฟื้นฟูจิตใจและให้คำปรึกษาแก่ผู้เคราะห์ร้ายและครอบครัว จะถูกส่งไปยังสถานที่เกิดเหตุ

3. การฟื้นฟูสถานการณ์

หลังจากสถานการณ์ฉุกเฉินเริ่มคลี่คลายผู้บริหารจะจัดตั้งทีมฟื้นฟูหลังภาวะวิกฤติเพื่อสรุปสถานการณ์และวางแผนการดำเนินการให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องตามแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจและเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่

จำนวนพนักงาน ผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการ ที่ผ่านการอบรมด้านความเสี่ยง จนถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ:

พนักงาน

พนักงานจำนวน 4,696 คน ได้เข้ารับการอบรมด้านความเสี่ยง โดยพนักงานที่ผ่านการอบรมทั้งหมดนี้ ได้เรียนหลักสูตรภายในของบริษัทที่มีชื่อว่า "Risk Awareness for Allstars"

คณะผู้บริหาร

คณะผู้บริหารจำนวน 14 ท่าน ได้เข้ารับการอบรมด้านความเสี่ยง โดย 11 ท่าน ได้เข้าร่วมหลักสูตร "Risk Awareness for Allstars" ในปี พ.ศ. 2566 อีก 3 ท่าน ได้สำเร็จหลักสูตร "Director Certification Program (DCP)" จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดย 2 ท่าน สำเร็จในปี พ.ศ. 2554 และ 1 ท่าน สำเร็จในปี พ.ศ. 2561

คณะกรรมการ

คณะกรรมการจำนวน 5 ท่าน ได้เข้ารับการอบรมด้านความเสี่ยง โดยทั้งหมดสำเร็จหลักสูตร "Director Certification Program (DCP)" จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยมี 2 ท่าน สำเร็จในปี พ.ศ. 2543, 2 ท่าน สำเร็จในปี พ.ศ. 2554 และ 1 ท่าน สำเร็จในปี พ.ศ. 2561