
การลงทุนทางสังคม
ความมุ่งมั่น
บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในองค์รวมตลอดห่วงโซ่คุณค่า และส่งเสริมจิตสำนึกการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าใจถึงการจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินการของสายการบินและธุรกิจอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถวิเคราะห์ผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ รวมถึงพิจารณาถึงโอกาสและความเสี่ยง เพื่อให้ได้ซึ่งแนวคิดในการสร้างกลยุทธ์และการลงมือทำเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืนของแต่ละภาคส่วน รวมถึงลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชน ไม่จำกัดเฉพาะส่วนของบริษัทเอง อันจะนำไปสู่การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าในองค์รวม


บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน จึงได้ริเริ่มกิจกรรม "Safety on Tour" เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยนอกสถานที่ทำงาน โดยมุ่งเป้าไปที่สถาบันการศึกษาที่บุตรหลานของพนักงานเข้าเรียน
วัตถุประสงค์คือเพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัย แบ่งปันประสบการณ์ด้านความปลอดภัยกับนักเรียนในชุมชนใกล้ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้ความรู้เพื่อป้องกันอันตรายในชีวิตประจำวัน และสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนในการเลือกประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบิน
วัตถุประสงค์และประโยชน์
ส่งเสริมวัฒนธรรม
ความรู้
สร้างแรงบันดาลใจ


จากเจตนารมณ์ของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้มีส่วนได้เสีย แผนการปฏิบัติงานของ Journey D ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์
กลยุทธ์และแนวทางการพัฒนาชุมชน
บริษัทตระหนักดีว่าการดำเนินงานสายการบินไม่ได้มีเพียงแค่การขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทาง แต่ยังรวมถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นในทุกสถานที่ที่บริษัทบินไปด้วย พร้อมกันนั้นยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน โดยบริษัทได้มีกลยุทธ์หลัก 2 ด้านคือ
- การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
- การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและห่วงโซ่คุณค่าอย่างยั่งยืน


1. Journey D ในปี 2567
โครงการ Journey D สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัท โดยมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และสร้างการตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการส่งเสริมศักยภาพชุมชน และการพัฒนาความเป็นอยู่ ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ชุมชน
วัตถุประสงค์
โครงการมุ่งพัฒนาและเสริมสร้างความยั่งยืนในชุมชนด้วยการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้:
- ด้านสังคม: พัฒนาทักษะและศักยภาพของชุมชนในด้านการบริการและการเล่าเรื่องผ่านกิจกรรมอบรมจากฝ่ายการเรียนรู้ของบริษัท ได้แก่ Service Wonder และ Storytelling
- ด้านสิ่งแวดล้อม: สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า
เป้าหมาย
- เพิ่มความตระหนักรู้เรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในชุมชน
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการท่องเที่ยว
- เพิ่มรายได้ในชุมชนจากการดำเนินการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
กิจกรรม Knowledge Sharing by Journey D 2567
บริษัทได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมชุมชน ณ ชุมชนบ้านมุงเหนือ อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่ผู้ประกอบการที่พัก ผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาชิกกลุ่มท่องเที่ยว สมาชิกกลุ่มบริการปีนเขา และสมาชิกกลุ่มบริการรถนำเที่ยวชุมชน จำนวน 21 คน ซึ่งเป็นบุคลากรหลักในการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เข้าถึงองค์ความรู้ ที่จะสามารถขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีศักยภาพสู่การแข่งขันในตลาด สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว และกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ และแนวทางการบริการของชุมชนให้ตอบโจทย์กลุ่มตลาดเป้าหมาย อันจะนำไปสู่การสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนจากการท่องเที่ยวทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้นำจุดแข็งของบริษัทและพันธมิตรมาใช้ในการพัฒนา โดยมีหัวข้อการส่งเสริมองค์ความรู้ดังนี้ :
- Service Wonders: การพัฒนาทักษะการบริการในธุรกิจท่องเที่ยว โดยฝ่ายการเรียนรู้ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
- Financial Clinic: การพัฒนาทักษะการจัดการด้านการเงินของคนในชุมชน โดยบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)
- Sustainable Tourism: การสร้างความตระหนักรู้เรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยบริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด
- Storytelling: เสริมทักษะการเล่าเรื่องเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสถานที่ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ในชุมชน โดยฝ่ายการเรียนรู้ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
- Content Marketing: การพัฒนาทักษะการตลาดออนไลน์เพื่อโปรโมทกิจกรรม และผลิตภัณฑ์ในชุมชน โดย บริษัท ปันโปรโมชั่น จำกัด



2. โมเดลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จังหวัดกระบี่
ในปี 2567 มูลนิธิแอร์เอเชียได้มอบทุนให้แก่ บริษัท รีฟีลด์ แล็บ จำกัด (Refield Lab) เพื่อทดลองใช้โมเดลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดกระบี่ โดยร่วมมือกับ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ChangeFusion) และ มูลนิธิเอ็นไลฟ (ENLIVE) ในฐานะพันธมิตรท้องถิ่น ส่วน Refield Lab เป็นองค์กรเพื่อสังคมที่มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตยกรรมชุมชนทำงานร่วมกับธรรมชาติและผู้คนเพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้ธรรมชาติเป็นรากฐานของชุมชนและสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ มีส่วนร่วมและสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น
- เพื่อสื่อสารและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว
- เพื่อพัฒนาแผนการจัดการจุดหมายปลายทางอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นและการจัดการพื้นที่ของพวกเขา
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
- คู่มือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ให้เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมท้องถิ่น สถานที่ที่น่าค้นหา และแนวปฏิบัติที่ดีในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในพื้นที่
- แผนการจัดการสำหรับชุมชนในการบริหาร และพัฒนาพื้นที่การทำมาหาเลี้ยงชีพของพวกเขาอย่างยั่งยืน




Fisherfolk เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำโดยผู้หญิงในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเป้าหมายในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนและอาหารทะเลที่ปราศจากสารเคมี
โครงการนี้สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ชาวประมงในพื้นที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จัดหาวัตถุดิบจากผู้ที่ทำประมงอย่างยั่งยืนในราคาที่สูงกว่า แปรรูปวัตถุดิบเพื่อจำหน่ายปลีก และนำกำไร 20% ไปสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เช่น การสร้างปะการังเทียม มูลนิธิแอร์เอเชียสนับสนุน Fisherfolk โดยมอบเงินทุนเพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตและให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดเพื่อขยายธุรกิจ
ประเด็นที่ได้รับการพัฒนา:
สนับสนุนการสร้างทักษะและอาชีพของผู้หญิงในชุมชน
แนวทางการทำประมงอย่างยั่งยืน
การอนุรักษ์ทางทะเล
นวัตกรรมผลิตภัณฑ์
กิจกรรมสนับสนุนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่เชียงรายและเชียงใหม่
บจ. ไทยแอร์เอเชีย ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทให้บริการเที่ยวบิน โดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนท้องถิ่น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
1. Allstars Do Good
ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 บริษัทได้จัดกิจกรรมอาสาในชื่อ “Allstars Do Good” โดยมีพนักงานจิตอาสาของบริษัทเข้าร่วมช่วยคัดแยกของบริจาค เพื่อส่งมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่เชียงรายและเชียงใหม่ โดยร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในด้านการจัดการความช่วยเหลือฉุกเฉินในประเทศไทย
2. ลัดฟ้า มาล้างบ้าน
เนื่องด้วยความรุนแรงของภัยพิบัติน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางของอาสามัคร ที่ต้องการเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ บริษัทจึงได้มอบตั๋วเครื่องบินไป-กลับ เส้นทางดอนเมือง-เชียงราย แก่อาสาสมัคร และผู้ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจำนวน 10 ที่นั่งต่อวันตลอดโครงการช่วงฟื้นฟูในวันที่ 15-31 ตุลาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 17 วัน 170 ที่นั่ง เพื่อช่วยส่งอาสาสมัครไปขัดล้างบ้านผู้ประสบภัยและให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพให้แก่ผู้ประสบภัยในอำเภอเเม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอุทกภัยที่ผ่านมา
เป้าหมาย
- บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่เชียงรายและเชียงใหม่
- สนับสนุนการทำงานของมูลนิธิกระจกเงาและเครือข่ายอาสาสมัคร
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบริษัทและชุมชนในพื้นที่ที่ให้บริการเที่ยวบิน
ผลลัพธ์ของโครงการ
- เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งความช่วยเหลือและลดระยะเวลาการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย
- สร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทและองค์กรภาคประชาสังคมในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- สะท้อนความมุ่งมั่นของบริษัทในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการสนับสนุนความยั่งยืน


From Farm to Flight
บจ. ไทยแอร์เอเชีย ได้สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นผ่านโครงการ From Farm to Flight ซึ่งมุ่งเน้นการนำผลผลิตจากชุมชนมาใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับเครื่องดื่มที่เสิร์ฟบนเที่ยวบิน โดยเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากเกษตรกรไทย พร้อมผ่านกระบวนการแปรรูปในโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHPs และ HACCP เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย ก่อนนำมาให้บริการบนเที่ยวบิน ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้นำเสนอเมนูพิเศษที่สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างชุมชน และธุรกิจได้อย่างลงตัวอย่าง
- น้ำมะปี๊ดและอเมริกาโน่มะปี๊ด ซึ่งใช้ผลผลิตจากเกษตรกรสวนมะปิ๊ด ในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 1 สวน
- น้ำลำไยและอเมริกาโน่ลำไย ซึ่งใช้ผลผลิตจากเกษตรกรสวนลำไย ในจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 สวน


