EN / TH
15 สิงหาคม 2566

AAV ฟื้นตัวต่อเนื่อง ไตรมาส 2/2566 กำไร EBITDA อยู่ที่ 1,817.2 ล้านบาท ขนส่งผู้โดยสารรวม 4.64 ล้านคน ตลาดในประเทศคึกคัก อัตราขนส่งเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 94

สถิติที่สำคัญในไตรมาส 2/2566

  • EBITDA* เป็นบวก 3 ไตรมาสติดต่อกัน พลิกจากขาดทุน (1,046.5) ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจาก 1,740.9 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน
  • ขาดทุนสุทธิ (1,012.5) ล้านบาท สาเหตุหลักจากขาดทุนอัตราเเลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่สภาพคล่องเเละกระแสเงินสดของบริษัทมีสถานะแข็งแกร่งขึ้น
  • ขนส่งผู้โดยสารรวม 4.64 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 89 ความตรงต่อเวลาอยู่ที่ร้อยละ 80 อัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยเพิ่มเป็น 12.9 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ไต่ขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการ โดยนำเครื่องบินมาปฏิบัติการบินเเล้ว 45 ลำ จากฝูงบินทั้งหมด 54 ลำ ณ สิ้นสุดไตรมาส

กรุงเทพฯ, วันที่ 15 สิงหาคม 2566 - บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (“AAV”) ผู้ถือหุ้นของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) เผยผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2566 รายได้รวมอยู่ที่ 10,398.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 275 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 998.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 143 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังคงแข็งแกร่งหลังจีนเริ่มเปิดประเทศในไตรมาสก่อนและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดย EBITDA ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,817.2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ณ สิ้นไตรมาส ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้บริษัทรายงานขาดทุนสุทธิในไตรมาสนี้ที่ (1,012.5) ล้านบาท

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ไตรมาสนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศที่มีอัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึงร้อยละ 94 ในขณะที่ต่างประเทศ จีนถือเป็นตลาดกลยุทธ์หลักของภูมิภาค แม้ในระหว่างไตรมาส เศรษฐกิจโดยรวมมีการฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ส่วนกระบวนการอนุมัติวีซ่าและพาสปอร์ตทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสที่ 2 ไทยแอร์เอเชียเพิ่มเที่ยวบินไปยังจีนมากขึ้นและให้บริการเเล้ว 108 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจาก 67 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่ 1 ในขณะที่ตลาดอาเซียนเเละอินเดีย ยังได้รับการตอบรับที่ดี โดยบริษัทได้ทำงานใกล้ชิดร่วมกับการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทยในการวางกลยุทธ์พร้อมเเผนและแคมเปญการตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เชื่อมต่อเส้นทางภายในประเทศที่เรามีความถี่เเละเครือข่ายการบินครอบคลุมมากที่สุด

สำหรับครึ่งปีเเรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 19,641.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 324 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนรายได้บริการเสริมอยู่ที่ร้อยละ 19 ของรายได้จากการขายและบริการ ทั้งนี้ ยังคงรายงานขาดทุนสุทธิอยู่ที่ (653.1) ล้านบาท จากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ฟื้นขึ้นชัดเจนจากขาดทุน (7,278.5) ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณที่นั่งที่ทำการบิน (Seat Capacity) กลับมาอยู่ที่ร้อยละ 77 ของช่วงก่อนเกิดโรคระบาด และขนส่งผู้โดยสารไปแล้ว 9.22 ล้านคน พร้อมคงเป้าหมาย 20 ล้านคนในปีนี้

“บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อเนื่อง สามารถทำ EBITDA เป็นบวกได้ 3 ไตรมาสติดกัน สุขภาพของกระเเสเงินสดเเละสภาพคล่องแข็งแรงขึ้นอย่างเด่นชัด รวมทั้งพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้กลับไปเทียบเท่ากับก่อนช่วงโควิด-19 ทำให้ครึ่งปีหลังเป็นช่วงโอกาสสำคัญของบริษัทในการพลิกฟื้นกลับมาสร้างกำไรสุทธิจากการดำเนินงานเป็นปีเเรกหลังเกิดโรคระบาด ซึ่งเราเตรียมเเผนการตลาดที่หลากหลาย พร้อมเพิ่มเครือข่ายการบินในตลาดต่างประเทศ พร้อมเร่งนำเครื่องบินกลับมาปฏิบัติการบินให้เร็วที่สุดจากฝูงบินที่มีอยู่เเล้ว 54 ลำ ในปัจจุบัน” นายสันติสุขกล่าว

สำหรับครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทตั้งเป้าในการเพิ่มความถี่เที่ยวบินไปยังตลาดจีนให้ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่ 138 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมทั้งเพิ่มเส้นทางบินใหม่ อาทิ สีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล อัห์มเดบาด ประเทศอินเดีย โดยเชื่อว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวจะยังคงคึกคักไปถึงสิ้นปี เพื่อบรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวที่ ททท. ตั้งไว้ที่ 25-30 ล้านคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมให้ฟื้นตัวต่อเนื่องด้วย โดยบริษัทยังคงทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนต่อเนื่อง ในการผลักดันเชิงนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน ซึ่งระหว่างนี้ถูกกำหนดให้กลับไปเป็นอัตราเดิมจนกว่าจะมีการพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมทั้งเป้าหมายระยะยาวของอุตสาหกรรม อาทิ การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น

*กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย