AAV ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563
พร้อมตั้งเป้ารุกหนักครึ่งปีหลัง กระตุ้นรายได้เเละสร้างโอกาสใหม่เต็มที่
กรุงเทพฯ 13 สิงหาคม 2563 - บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 มีรายได้รวม 2,221 ล้านบาท และขาดทุน 1,210.6 ล้านบาท จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการให้บริการเเละความต้องการเดินทางที่ลดลง
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อนโยบายข้อจำกัดการเดินทางของรัฐ และความต้องการเดินทางที่ลดลง แอร์เอเชียจึงจำเป็นต้องลดการให้บริการเที่ยวบิน โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศ ทำให้รายได้รวมในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 78 โดยขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 283,601 คน ลดลงร้อยละ 95 และมีจำนวนผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศลดลงเกือบร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราขนส่งผู้โดยสารโดยรวมในไตรมาสนี้ลดลงเหลืออยู่ที่ร้อยละ 52
"ไทยแอร์เอเชียให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีค่าใช้จ่ายรวมลดลงร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนน้ำมันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ลดลง โดยค่าน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามปริมาณการใช้น้ำมันที่ลดลงเนื่องจากการปรับแผนการบินให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางและตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามเเผนนโยบายการประหยัดและลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด
"ในไตรมาสที่ 2 สายการบินให้บริการด้วยปริมาณที่นั่งเพียงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความจำเป็นที่ต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมาก เเละข้อจำกัดในการขนส่งทางอากาศต่างๆ จนสถานการณ์ผ่อนคลายขึ้น และกลับมาให้บริการเส้นทางภายในประเทศอีกครั้งในเดือน
พฤษภาคม 2563 จึงเริ่มจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการเดินทาง เช่น ตั๋วบินบุฟเฟต์ เส้นทางภายในประเทศ และการสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อภาพรวมของธุรกิจในครึ่งปีหลัง" นายสันติสุขกล่าว
อย่างไรก็ตาม สายการบินไม่หยุดนิ่งในการแสวงหาและสร้างโอกาสใหม่ๆ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มเส้นทางบินภายในประเทศที่สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การเปิดเส้นทางบินข้ามภาค บินตรง เชียงใหม่ - หัวหิน และ อุดรธานี - หัวหิน อีกทั้งบริหารจัดการการให้บริการที่กรุงเทพฯ โดยเพิ่มบินที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เสริมทัพท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ถือเป็นการสร้างทางเลือกและความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาด พร้อมร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม
นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชีย ตั้งเป้าจะกลับมาให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ผ่านการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างกันเฉพาะประเทศที่เจรจาตกลงร่วมกัน (Travel Bubble) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ประเทศจีน และประเทศอื่น ๆ ที่มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่เริ่มอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าที่ระลึกบนเครื่องบินได้เเล้ว ตั้งเเต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่การให้บริการอาหารเเละเครื่องดื่มบนเครื่องบินคาดว่าจะได้รับการอนุญาตในระยะต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อธุรกิจและผลประกอบการของสายการบินในช่วงครึ่งปีหลัง 2563